ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตัดสินลงโทษนักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษฐานหมิ่นประมาท เหตุเปิดเผยสถานการณ์สิทธิแรงงานข้ามชาติในโรงงานสับปะรดไทย
ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตัดสินคดีที่นายแอนดี้ ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานและผู้ทำวิจัยด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง ถูกฟ้องร้องโดยบริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด โดยมูลเหตุความผิดคือการตีพิมพ์รายงานสถานการณ์สิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง ศาลตัดสินว่าจำเลยกระทำผิดจริง ลงโทษปรับรวม 200,000 บาท และจำคุก 4 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อศาล ลดโทษให้ 1 ใน 4 เหลือโทษจำคุก 3 ปี และปรับ 150,000 บาท และเนื่องจากจำเลยเป็นนักกิจกรรมที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ให้โทษจำคุกรอลงอาญาไว้
บริษัทเนเชอรัล ฟรุต จำกัด ฟ้องร้องนายแอนดี้ ฮอลล์ จากรายงานซึ่งจัดทำขึ้นโดยองค์กรฟินน์ วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของฟินแลนด์ เมื่อปี 2556 ซึ่งเนื้อหารายงานระบุว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องของไทย เช่น ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด บังคับทำงานล่วงเวลา ฯลฯ โดยรายงานฉบับนี้นายแอนดี้เป็นผู้ลงเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์แรงงานในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 3 บริษัท รวมถึงบริษัทเนเชอรัล ฟรุต จำกัด โดยบริษัทฯ กล่าวหานายฮอลล์จากความผิดสองกรรม คือ การนำรายงานฉบับดังกล่าวขึ้นสู่เว็บไซต์ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และอีกกรรมหนึ่งคือ การจัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยศาลตัดสินว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้อง ซึ่งเจ้าตัวจะอุทธรณ์คดีต่อไป
ด้าน ซอนญา วาร์เทียลา ผู้อำนวยการบริหาร ฟินน์ วอทช์ ระบุว่า “ช็อกกับคำตัดสิน” เนื่องจากรายงานฉบับดังกล่าวนั้นเป็นความรับผิดชอบและตีพิมพ์โดยองค์กร และนายฮอลล์เป็นเพียงแพะรับบาปเพียงเพราะเขาเป็นผู้รวบรวมนำเสนอเสียงของคนที่สนับสนุนสิทธิแรงงาน ทั้งวิพากษ์ว่าแทนที่จะเอาตัวนักสิทธิมนุษยชนมาลงโทษด้วยข้อหาหมิ่นประมาท ไทยควรจะดำเนินการลงโทษผู้ที่ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติมากกว่า
“วันนี้เป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับเสรีภาพในการแสดงความเห็นในประเทศไทย เราเกรงว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเหยื่อของโรงงานที่ละเมิดสิทธิทั้งหลายจะรู้สึกกลัวและเลือกที่จะเงียบเนื่องจากผลการตัดสินครั้งนี้”
ก่อนหน้านี้ องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่ากรณีของแอนดี้ ฮอลล์ เป็นหนึ่งในหลายกรณีที่มีการใช้ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาเพื่อคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการละเมิดพันธกรณีของไทยที่จะคุ้มครองและเคารพสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก โดยแอมเนสตี้ฯ ระบุด้วยว่า ข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีระบุว่า กฎหมายควรอนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องเฉพาะความผิดหมิ่นประมาทที่เป็นคดีแพ่งเท่านั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เคยแถลงว่า กฎหมายต้อง “ร่างขึ้นด้วยความระมัดระวังเพื่อประกันว่ากฎหมายนั้นจะไม่ส่งผลในทางปฏิบัติให้เกิดการคุกคามเสรีภาพของการแสดงออก” และกระตุ้นให้รัฐบาลต่าง ๆ พิจารณาลดการเอาผิดทางอาญากับความผิดหมิ่นประมาทโดยสิ้นเชิง
Post A Comment:
0 comments: