About

About
woywhyweb

slider

Recent

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

คลังบทความของบล็อก

Navigation

แอมเนสตี้ฯ แนะรัฐบาลไทยจริงจังด้านสิทธิมนุษยชน หลังงานเปิดตัวรายงานการทรมานถูกยกเลิก


แอมเนสตี้ฯ แนะรัฐบาลไทยจริงจังด้านสิทธิมนุษยชน หลังงานเปิดตัวรายงานการทรมานถูกยกเลิก

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (เอไอ) ยกเลิกการเปิดตัวรายงานเรื่อง “บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้: การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทย” ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเช้าวันนี้ (28 ก.ย.) โดยผู้จัดงานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สันติบาลและกระทรวงแรงงานว่าผู้บรรยายบนเวทีเปิดตัวรายงานดังกล่าวเป็นชาวต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และหากดำเนินกิจกรรมต่อไป ผู้บรรยายอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแรงงานของไทยได้

อย่างไรก็ตาม นายโอมาร์ วาราอิช ผู้จัดการฝ่ายสื่อของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่าผู้บรรยายซึ่งเป็นชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยโดยได้รับการตรวจลงตราสำหรับเข้ามาติดต่อธุรกิจ และทางองค์กรได้ประสานการทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลมาโดยตลอด และแม้จะต้องยกเลิกการจัดงานในวันนี้ไป แต่ทางองค์กรจะทำงานรณรงค์เพื่อหลักการสิทธิมนุษยชนต่อไป และจะต่อต้านการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

นอกจากนี้ นายวาราอิชได้กล่าวถึงกรณีที่ผู้แทนรัฐบาลไทยแถลงยอมรับข้อเสนอตามกระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UPR ระหว่างการประชุมที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเดือน ก.ย.นี้โดยระบุว่ารัฐบาลไทยควรแสดงความจริงจังในการดำเนินการตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชน และควรต้องเปิดโอกาสให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมถึงเอไอ ได้ทำงานของตนต่อไป

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ย้ำกับบีบีซีไทยว่ารัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกเลิกจัดงานของเอไอ และเงื่อนไขการยกเลิกงานเปิดตัวรายงานดังกล่าวขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงาน แต่ขอยืนยันว่าการยกเลิกจัดงานของเอไอจะไม่กระทบต่อบทบาทของรัฐบาลไทยในด้านสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลไทยจะดำเนินการตามที่เคยรับปากไว้กับเวทีโลก แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นข้อมูลในรายงานดังกล่าว และจะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ทั้งนี้ รายงานของเอไอบ่งชี้ว่าหลังการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2557 หน่วยงานของกองทัพไทยได้ปล่อยให้มีการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายกับผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบ ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และบุคคลต่างๆ เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเอไอระบุว่าได้เก็บข้อมูลการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายโดยทหารและตำรวจ 74 กรณี ซึ่งมีตั้งแต่การทุบตี ใช้ถุงพลาสติกรัดให้ขาดอากาศหายใจ การใช้มือหรือใช้เชือกบีบคอหรือผูกคอ การทำให้สำลักน้ำ การช็อตอวัยวะเพศด้วยไฟฟ้า และการทำให้อับอายในรูปแบบต่าง ๆ

เอไอได้เรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่อยู่ระหว่างจัดทำ ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ แห่งสหประชาชาติ และรับประกันให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานอย่างเป็นอิสระ เพื่อขจัดการปฏิบัติโดยมิชอบให้หมดไป

(ภาพ: บรรยากาศการประชุมนานาชาติด้านสิทธิมนุษยชนที่นครเจนีวา)
Share
Banner

Post A Comment:

0 comments: