เผยรางวัลงานวิจัยเพื่อเสียงหัวเราะของมนุษยชาติ “อิกโนเบล” ปี 2559
นายมาร์ก อับบราห์ม บรรณาธิการวารสารงานวิจัยที่ไม่ธรรมดา หรือ Annals Improbable Research ของสหรัฐฯ จัดพิธีประกาศผลรางวัลอิกโนเบล ครั้งที่ 26 ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในรัฐแมสซาชูเสตส์ของสหรัฐฯ ช่วงค่ำวานนี้ (22 ก.ย.) โดยเป้าหมายของการมอบรางวัลอิกโนเบลสาขาต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้แก่มนุษยชาติ และเป็นการล้อเลียนพิธีมอบรางวัลโนเบลซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นรางวัลเกียรติยศในระดับสากล
งานวิจัยที่ได้รับรางวัลอิกโนเบลสาขาการขยายพันธุ์ในปีนี้ ได้แก่ การศึกษาพฤติกรรมการสืบพันธ์ุของหนูทดลองที่ถูกจับสวมกางเกง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของนายอาเหม็ด ชาฟิก พบว่าหนูที่ใส่กางเกงทำจากผ้าใยสังเคราะห์จะสืบพันธุ์น้อยกว่าหนูที่ถูกจับใส่กางเกงทำจากผ้าฝ้ายหรือผ้าขนสัตว์
ส่วนรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ เป็นของนายมาร์ค อาวิส และคณะ ซึ่งศึกษาคุณสมบัติของหินประเภทต่างๆ ที่มีผลต่อการรับรู้ของผู้คนและการให้คุณค่าการซื้อขายในตลาด และรางวัลสาขาฟิสิกส์ เป็นของนายกาบอร์ ฮอร์แวธ และคณะ ซึ่งวิจัยว่าเหตุใดม้าที่มีขนสีขาวจึงไม่มีเหลือบเกาะเหมือนม้าที่มีขนสีอื่น และเหตุใดหินสีดำจึงดึงดูดแมลงปอมากกว่าหินสีอื่น
ขณะที่รางวัลสาขาเคมี เป็นของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โฟล์กสวาเกน ซึ่งตกเป็นข่าวอื้อฉาวจากการผลิตเครื่องมือโกงระบบตรวจสอบค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ของเครื่องยนต์โฟล์กสวาเกน โดยรายงานข่าวระบุว่าเป็นการมอบรางวัลเชิงประชดประชัน และไม่มีตัวแทนบริษัทโฟล์กสวาเกนมารับมอบรางวัลดังกล่าว
ส่วนรางวัลสาขาการแพทย์เป็นของ คริสตอล์ฟ เฮล์มเชน และคณะ จากงานวิจัยซึ่งระบุว่ามนุษย์สามารถส่องกระจกเพื่อเการ่างกายฝั่งตรงข้ามกับส่วนที่รู้สึกคันและจะสามารถหายจากอาการคันได้ เช่น ผู้ที่รู้สึกคันร่างกายฝั่งซ้าย สามารถส่องกระจกและเการ่างกายฝั่งขวาก็จะหายคันได้เช่นกัน ส่วนรางวัลสาขาจิตวิทยา เป็นของเอฟลิน เดอบี และคณะ ซึ่งทำวิจัยด้วยการประเมินผลคำตอบจากกลุ่มเป้าหมายซึ่งยอมรับว่าตัวเองโกหกอยู่เป็นประจำ และกลุ่มนักวิจัยตัดสินใจว่าจะเชื่อในคำตอบที่ได้รับจากกลุ่มเป้าหมาย
รางวัลสาขาชีววิทยา เป็นการรับรางวัลร่วมกันของชายชาวอังกฤษ 2 คน ซึ่งทำการศึกษาวิจัยพฤติกรรมสัตว์โลกโดยการใช้ชีวิตเลียนแบบสัตว์ดังกล่าว โดยผู้รับรางวัลรายแรก คือ นายชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ ผู้ใช้ชีวิตเลียนแบบสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ทั้งตัวแบดเจอร์ กวาง สุนัขจิ้งจอก และนก ส่วนผู้รับรางวัลอีกรายหนึ่ง คือ นายโทมัส ทไวต์ส ผู้ศึกษาพฤติกรรมของฝูงแพะ โดยเขาใช้ขาเทียมช่วยในการเดินสี่ขาเพื่อเข้าร่วมกลุ่มกับฝูงแพะภูเขาในสวิตเซอร์แลนด์
Post A Comment:
0 comments: