About

About
woywhyweb

slider

Recent

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

คลังบทความของบล็อก

Navigation

สธ. ยืนยันใช้มาตรการเข้มข้นสูงสุดควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

บีบีซีไทย - BBC Thai

สธ. ยืนยันใช้มาตรการเข้มข้นสูงสุดควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุใช้มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้นในระดับสูงสุดต่อเนื่อง ขอประชาชนร่วมควบคุมยุงลายในบ้าน ด้านกระทรวงมหาดไทย (มท.) มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด จันทบุรี เพชรบูรณ์ บึงกาฬ และเชียงใหม่ให้สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกัน และแก้ไขปัญหา หลังพบว่าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรประบุไทยมีสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในระดับสีแดง

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีโทรสารด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพชรบูรณ์ บึงกาฬ และเชียงใหม่ หลังพบว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป หรือ ECDC ได้เผยแพร่ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2559 ในเว็บไซต์ระบุว่า สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาของประเทศไทยอยู่ในระดับสีแดง คือ มีการเผยแพร่กระจายของโรคอย่างกว้างขวางในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยจึงขอสั่งการให้จังหวัดสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยให้เร่งประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางการสื่อสารในพื้นที่ให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ และไม่ตื่นตระหนก และประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข:EOC) และสั่งการให้ทุกอำเภอจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ระดับอำเภอ ให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนบุคลากร อุปกรณ์เครื่องพ่นหมอกควัน ฯลฯ

วันนี้ น.พ. อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรประบุว่าประเทศไทยมีสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในระดับสีแดง และนับเป็นประเทศที่รายงานพบผู้ป่วยมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าจากการตรวจสอบแล้วพบว่าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป มีการจัดแบ่งประเภทของประเทศที่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อ แตกต่างจากการจัดประเภทตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับทั่วโลก อีกทั้งข้อมูลในเว็ปไซด์ดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงมาตรการป้องกันควบคุมโรคของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ประสานไปยังศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสอบถามในเรื่องดังกล่าว โดยขอให้มีการตรวจสอบข้อมูลและได้ทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความตระหนัก มาตรการเฝ้าระวัง การวินิจฉัยโรค และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งระบบของประเทศไทยนั้นได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

น.พ.อำนวย กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทย ยังคงใช้มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้นในระดับสูงสุดต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที สำหรับมาตรการระหว่างประเทศ นั้น ได้เน้นการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคนี้ 4 ด้านได้แก่ 1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2.การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3.การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และ 4.การเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วน ร่วมดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าว โดยขณะนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ที่มีหนังสือสั่งการถึงจังหวัดที่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาให้สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกัน

สำหรับการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา นั้นทำได้โดยไม่ให้ยุงกัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและผู้เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดต้องป้องกันตนเองมิให้ยุงกัด โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ โรคนี้มีระยะฟักตัว 3-12 วัน (เฉลี่ย 4-7 วันร้อยละ 80 ไม่แสดงอาการ) การสังเกตอาการเจ็บป่วยผู้ติดเชื้อ เช่น มีไข้ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ

ภาพ: ป้ายเตือนการเฝ้าระวังไวรัสซิกาในสิงคโปร์ หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกา 41 รายเมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเอเชียรวมทั้งประเทศไทยที่พบการติดเชื้อไวรัสซิกา
Share
Banner

Post A Comment:

0 comments: