คนไทยใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 6.4 ชม. ต่อวัน แต่ยังมีปัญหาถูกขโมยข้อมูลง่าย
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ เอดต้า (ETDA) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเผยข้อมูลผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 16,000 ราย พบว่าคนไทยออนไลน์ประมาณ 6.4 ชม.ต่อวัน และใช้เวลากับโซเชียลเน็ตเวิร์กมากที่สุด รองลงมาคือ ยูทูปและระบบสืบค้น อย่างไรก็ตามผู้อำนวยการเอตด้าชี้ว่าคนไทยยังมีปัญหาถูกหลอกผ่านระบบออนไลน์ และข้อมูลส่วนบุคคลถูกขโมยง่ายเอตด้าสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 16,661 ราย ตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค. ที่ผ่านมาโดยใช้วิธีการสอบถามตามความสมัครใจผ่านระบบออนไลน์หลายรูปแบบ เช่น อีเมล์ เว็บไซต์ เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นต้น โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 16-35 ปี หรือเจนเนอเรชั่น Y ใช้งานอินเตอร์เน็ตมากชั่วโมงกว่ากลุ่มตัวอย่างอื่นๆ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของการใช้งานของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดคือ 54.4 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือเจนเนอเรชั่น X ซึ่งมีอายุระหว่าง 36-51 ปี 36.3 เปอร์เซ็นต์ และเจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์ หรือผู้มีอายุ 52-70 ปี 8.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เจนเนอเรชั่น Z คือผู้มีอายุน้อยกว่า 16 ปี ใช้งานอินเตอร์เน็ต 0. 8 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนการใช้งานของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ผู้ชายใช้เวลาบนอินเตอร์เน็ตมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย คือประมาณ 45.3 ชม. ต่อสัปดาห์ ขณะที่ผู้หญิงใช้งานอินเตอร์เน็ตราว 44.7 ชม.ต่อสัปดาห์
อุปกรณ์ที่มีการใช้งานเพื่อเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตมากที่สุดคือสมาร์ทโฟน ซึ่งคนไทยใช้เวลาในอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนถึงราว 6.2 ชม.ต่อวัน คิดเป็น 85.5 เปอร์เซ็นต์ของการใช้งานทั้งหมด รองลงมาคือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และส่วนใหญ่ใช้งานที่บ้านมากกว่าที่ทำงาน ข้อมูลจากการสำรวจยังพบด้วยว่า คนไทยค่อนข้างคึกคักในโลกออนไลน์ตั้งแต่เวลา 8.01 น.ไปจนถึงเที่ยงคืน โดยเฉลี่ยแล้ว คนไทยใช้งานอินเตอร์เน็ตในช่วงเวลาดังกล่าวราวๆ 70-75 เปอร์เซ็นต์ของการใช้งานอินเตอร์เน็ตทั้งหมด แต่เมื่อพ้นเที่ยงคืนไปแล้ว มีคนที่ยังแอคทีฟอยู่น้อยมาก คือราวๆ 11-12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
เมื่อเข้ามาสู่โลกออนไลน์แล้ว คนไทยอยู่กับเครือข่ายสังคมออนไลน์ราว 96.1 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือยูทูป 88.1 เปอร์เซ็นต์ และค้นหาข้อมูล 79.7 เปอร์เซ็นต์ และคนไทยเริ่มหันมาทำธุรกรรมการเงิน (58.8 เปอร์เซ็นต์) และช็อปปิ้ง (59 เปอร์เซ็นต์) ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ผู้เข้าร่วมการสำรวจ 37.6 เปอร์เซ็นต์ ตอบด้วยว่าเสียภาษีผ่านระบบออนไลน์
สื่อสังคมออนไลน์ที่คนไทยโปรดปราน 3 อันดับแรก คือ ยูทูป (97.3 %) เฟซบุ๊ก (94.8%) ไลน์ (94.6%) ตามมาด้วยอินสตาแกรม (57.6%) และทวิตเตอร์ (35.5%)
ด้านปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้อินเตอร์เน็ต จากผลการสำรวจ พบว่า ปัญหาอันดับแรก ได้แก่ ความล่าช้าในการเชื่อมต่อ/ใช้อินเตอร์เน็ต (70.3%) รองลงมา เป็นเรื่องของปริมาณโฆษณาที่มารบกวน (50.7%), การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตยาก/หลุดบ่อย (32.7%), เสียค่าใช้จ่ายแพง (26.8%) และการให้บริการอินเทอร์เน็ตยังไม่ทั่วถึง (21.2%) ตามลำดับ
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการเอตด้ากล่าวโดยคาดหวังว่าว่าผลการสำรวจนี้จะเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่จะนำไปใช้ในการวางแผนและกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ แต่อยากเน้นให้เห็นประเด็นสำคัญอีกประการคือ คนไทยอาจถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างง่ายและมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่จะก่อให้เกิดปัญหาเช่นที่ปรากฏเป็นข่าวเรื่องการถูกขโมยข้อมูลไปถอนเงินจากบัญชีธนาคารได้ง่ายๆ และข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยยังถูกขโมยได้ง่ายมาก โดยสาเหตุเกิดจากเจ้าของข้อมูลให้ข้อมูลเอง การแชร์ข้อมูลต่าง ๆ และการตั้งคำถามที่มีชั้นความลับเพื่อเข้าสู่รหัสผ่านบางครั้งก็คาดเดาได้จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ตัวเจ้าของเปิดเผยเอง และอีกปัญหาคือการถูกหลอกบนโลกออนไลน์ ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้คนไทยไม่สนใจมากนัก เพราะสนใจแล้วไม่รู้จะพึ่งใคร เป็นเหตุผลที่ทำให้เอ็ตด้าให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ภาคประกันภัย เพราะเกี่ยวข้องกับข้อมูลชีวิตและสุขภาพของคน เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ที่จะต้องตระหนักและแก้ปัญหาไปร่วมกันอย่างเข้าใจวิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป
Post A Comment:
0 comments: