About

About
woywhyweb

slider

Recent

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

คลังบทความของบล็อก

Navigation

10 ปีความขัดแย้งการเมืองไทย คนไทยพร้อมคุยกับคนเห็นต่างหรือยัง ตอนที่ 2 คุยกับรังสิมันต์ โรม และประจักษ์ ก้องกีรติ

บีบีซีไทย - BBC Thai

10 ปีความขัดแย้งการเมืองไทย คนไทยพร้อมคุยกับคนเห็นต่างหรือยัง ตอนที่ 2 คุยกับรังสิมันต์ โรม และประจักษ์ ก้องกีรติ

บีบีซีไทยคุยกับนายรังสิมันต์ โรม หรือที่คนรู้จักมักเรียกสั้นๆ ว่า โรม นักศึกษาปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้จัดงานเสวนา “10 ปีรัฐประหาร 49 เราก้าวไปข้างหน้า” ซึ่งจบลงด้วยความโกลาหลเพราะผู้ฟังซึ่งส่วนใหญ่เป็นมวลชนเสื้อแดง ไม่พอใจวิทยากรคือนายแทนคุณ จิตต์อิสระ นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ โดยโรมชี้ว่า 10 ปีที่ผ่านมา เกือบจะช้าเกินไปแล้ว สำหรับสังคมไทยที่จะเริ่มพูดคุยกับคนที่เห็นต่างและมองอนาคตร่วมกัน ขณะที่ผศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. ชี้ว่าสังคมที่ก้าวสู่การปรองดองได้นั้น คนในสังคมต้องมองเห็นอนาคตร่วมกัน และทบทวนความผิดพลาดของตัวเองมากกว่าไปชี้ความผิดของคนอื่น เพราะความขัดแย้งที่ยืดเยื้อกว่า 10 ปีนั้น ไม่มีใครที่เป็นฝ่ายถูกหรือผิดร้อยเปอร์เซ็นต์อีกแล้ว

“คือผมคิดว่า ณ วันนี้จะบอกว่าความพร้อมจะพูดคุยนั้นมีหรือไม่มีก็พูดยาก เพราะสุดท้ายเราก็ต้องคุยกัน ณ วันนี้เราคุยกันช้าไปด้วยซ้ำ และเมื่อมันช้าไป มันก็ยิ่งสะสม ยิ่งเลวร้ายลงมากขึ้นทุกที ในความเห็นผมไม่ว่าเราจะเห็นว่ามีความพร้อมที่จะคุยหรือไม่ เราก็ต้องคุย เป็นหนทางเดียวที่จะออกจากภาวะนี้ได้ เราไม่สามารถอยู่กับสภาพแบบนี้ เราไม่สามารถอยู่กับอำนาจนอกระบบต่อไป เราเริ่มคุยกันช้าจริง แต่ก็ต้องทำ” โรมกล่าวว่ารู้สึกเสียดายที่เวทีเสวนาซึ่งเขาเป็นผู้จัดต้องล่มลงไป เพราะระดับอารมณ์ที่รุนแรงของผู้ฟัง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องประเมินกันอีกครั้งในการจัดงานครั้งต่อๆ ไป

“แต่ผมก็มองในแง่ดี เพราะหลังงานเลิก ประชาชนจำนวนมากมาคุยกับผมว่าเขาพยายามห้ามกันเองและให้กำลังใจคนจัดงาน ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่อยากให้งานวันนั้นเดินต่อไปได้”

โรมบอกว่า หากย้อนกลับไปมอง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เขาอายุ 14 ปีเท่านั้นและยังไม่สนใจเรื่องการเมือง ขณะที่ครอบครัวนั้นสนับสนุนการเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเมื่อเขาเริ่มสนใจและทำกิจกรรมทางการเมือง สังคมส่วนหนึ่งก็ผลักให้เป็นฝ่ายตรงข้าม ซึ่งกลายเป็นการบ้านให้เขากลับมาคิดต่อว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้ประชาชนทั้งสองฝั่งพูดคุยกันได้

“จริงๆ เราก็พยายามที่จะสื่อสารกับคนอีกฝั่ง แต่ภาวะแปลกแยกทางการเมือง มันทำให้เราโดนผลักไปอยู่อีกฝั่งเลย คนอย่างพวกผมแทบไม่รู้จักกับต้นเหตุความแตกแยกทางการเมืองด้วยซ้ำ ผมเกิดมาทีหลัง แต่เราถูกผลักออกไปเป็นอีกฝั่งหนึ่ง ในอนาคตมีคนจำนวนมากที่จะตาสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ มันไม่ถึงขั้นสูญเสียความหวังเอาเสียเลย สิบปีที่ผ่านมามันนานไปแล้วไม่ควรจะรอให้คนตาสว่างกว่านี้ จะมีทางไหนไหมที่ให้คนแต่ละฝ่ายมาพูดคุย เราต้องริเริ่มอะไรบางอย่าง เราควรพูดคุยกันให้เห็นว่าตัวเองไม่ได้ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือผิดร้อยเปอร์เซ็นต์” รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้าย

ด้านอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ผู้ศึกษาความรุนแรงทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่าง ผศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ บอกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยไม่ได้ขยับก้าวออกไปสักเท่าไหร่ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดในระดับตัวบุคคล แต่ในภาพรวมแล้วการเมืองยังเป็นสองขั้วแตกแยก และไม่มีสะพานที่จะสานต่อให้คนคุยกันได้ และการสร้างสะพานให้ประชาชนแต่ละฝ่ายหันมาพูดคุยกันก็เป็นเรื่องทำได้ไม่ง่าย คนที่ริเริ่มจะทำเช่นนั้นต้องเตรียมใจเผชิญกับก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้

“คือสังคมไทยก็เหมือนกับอีกหลายสังคม เพียงแต่อาจจะไม่รุนแรงเท่ารวันดา แต่เมื่อที่ผ่านมามีการบาดเจ็บสูญเสีย จะให้หันหน้ากลับมาคุยกันก็ลำบาก การสร้างสะพานมันต้องอาศัยระยะเวลา”

ดร. ประจักษ์มองว่า การสร้างสะพานของแต่ละฝ่ายต้องเริ่มจากภาคประชาสังคมด้วยกันเอง ไม่ใช่การทำแบบ “บนลงล่าง” เพราะไม่มีทางประสบความสำเร็จ

“ความพยายามที่จะสร้างความสมานฉันท์แบบบังคับมันไม่เวิร์กเพราะคนไม่ได้อยากคุยกันเอง มันต้องเริ่มมาจากข้างล่างก็ถูกแล้ว ถ้าดูจากประเทศอื่นที่ทำมา การที่อย่างน้อยพอจะปรองดองหรือกลับมาคุยกันได้ก็ต้องยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายไม่มีใครถูกหรือผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเริ่มจากการชี้หน้าว่าใครถูกหรือผิดร้อยเปอร์เซ็นต์มันไม่ทำให้ไปไหนได้ ความขัดแย้งกว่าสิบปีเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ ไม่มีใครขาวและดำแล้ว มันต่างมีคนที่ผิดพลาด”

ดร.ประจักษ์ชี้ว่าที่ผ่านมาช่วงการลงประชามติก็มีสัญญาณใหม่ๆ มีการสร้างสะพานใหม่ เช่น “เครือข่ายใส่ใจประชามติ” ที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนกว่า 90 องค์กรเข้ามาร่วมมือกันแม้ก่อนหน้านั้นจะมีความเห็นต่างทางการเมือง เพราะทั้งหมดเริ่มมองเห็นผลกระทบและการละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านทรัพยากร สิทธิชุมชน และเห็นปัญหาที่เกิดภายใต้ระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งเขาเห็นว่าในอนาคต องค์กรเหล่านี้ก็อาจจะสามารถพูดคุยกันต่อไป และยิ่งระบอบคสช. อยู่นานและใช้อำนาจในการปิดกั้นการแสดงออก โอกาสที่ภาคประชาชน จะรวมกลุ่มกันได้มากขึ้นก็มีอยู่ แต่เขาเสนอว่าทุกฝ่ายต้องตระหนักและทบทวนความผิดพลาดของตนเอง ไม่ใช่เรียกร้องให้ฝ่ายตรงข้ามทบทวนเพียงฝ่ายเดียว

“ฝ่ายต่างๆ มีข้อผิดพลาดด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ได้หมายความว่าผิดเท่าๆ กันห้าสิบ-ห้าสิบ แต่จะเรียกร้องคนอื่นอย่างเดียวโดยไม่ได้ทบทวนตัวเองเลยก็คงไม่ได้ ต้องถามว่าฝั่งเราทำอะไรผิดพลาดบ้างไหม ที่ผ่านมาฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องทบทวนด้วย การคุยที่ย้อนกลับไปในอดีตมันยาก มันต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกันก่อนในอนาคต ไม่เช่นนั้นการกลับมาคุยกันก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้หมายความว่าอดีตไม่สำคัญ แต่ถ้าเราพอจะเห็นอนาคตร่วมกันบางอย่าง ว่าสังคมไทยยังต้องการอยู่ภายใต้ระบอบการเมืองที่ดีกว่านี้ใช่ไหม ต้องการอยู่ร่วมกันและมีความเห็นต่างได้อย่างสันติ ไม่มีอำนาจนิยมมากำหนดไว้ แล้วการคุยเรื่อง อดีตค่อยว่ากัน ตอนที่แอฟริกาใต้ปรองดอง ก็ปรองดองบนฐานที่มีภาพอนาคตของสังคมแบบใหม่ร่วมกันว่าจะไม่อยู่ภายใต้การกีดกันแบ่งแยก คนมีจุดหมายร่วมกันก่อนแล้วค่อยจับเข่าคุยกันถึงอดีต แบบนี้เจ็บปวดน้อยกว่า แต่ถ้ายังทะเลาะกันอยู่และข้างหน้าก็ไม่เห็นอนาคต การคุยย้อนอดีตก็มีแต่นำไปสู่การทะเลาะกันอย่างเดียว” ดร. ประจักษ์กล่าวทิ้งท้าย

ภาพ: อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พื้นที่หลักในการชุมนุมของทุกกลุ่มการเมืองตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
Share
Banner

Post A Comment:

0 comments: