นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กล่าวกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งยึดทรัพย์นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมพวกรวม 6 คน มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อชดใช้ความเสียหายว่า เป็นการใช้อำนาจบังคับทางปกครองเรียกร้องค่าเสียหายจากการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมอบให้กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการแทนกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง กรณีดังกล่าวไม่ใช่การยึดทรัพย์ แต่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ตามระเบียบขั้นตอนกฎหมาย กรมบังคับคดี สามารถยึดทรัพย์ได้ตามคำสั่งศาลยุติธรรมเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถยึดทรัพย์ได้ ต้องรอคำสั่งศาลก่อน ไม่เหมือนสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี คนที่ 10 ที่ใช้อำนาจทางรัฐประหารตาม ม.17 สั่งยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 11 เมื่อปี 2507 ได้ทันที ก่อนกลับมาเป็นนายกรัฐมนนตรีอีกครั้ง
กรณีกระทรวงพาณิชย์มีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 รายรับทราบ เพื่อตอบรับหรือโต้แย้งภายใน 30 วัน หากเพิกเฉย ส่งหนังสือเตือนรอบ 2 อีก 15 วัน รวมเป็น 45 วัน ก่อนดำเนินการยึดทรัพย์นั้น เชื่อว่านายบุญทรง และพวก ฟ้องศาลปกครองซึ่งเป็นศาลยุติธรรม เพื่อโต้แย้งคำสั่งทางปกครองดังกล่าว และขอให้ศาลทุเลาคำสั่งชั่วคราว ถ้าศาลมีคำสั่งให้ทุเลา หรือคุ้มครองชั่วคราว ก็ไม่สามารถยึดทรัพย์ได้ หากศาลไม่ทุเลา หรือคุ้มครองตามคำร้องขอ กรมบังคับคดีสามารถดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายได้ เคยมีตัวอย่างมีการใช้อำนาจทางปกครองดำเนินการยึดทรัพย์มาแล้ว
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทางปกครอง เพื่อยึดทรัพย์นักการเมืองนั้น คณะกรรมการที่ตรวจสอบความเสียหายการขายข้าวแบบจีทูจี ยังไม่สรุปความเสียหายที่ชัดเจน ว่าใครรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน มีหลายประเด็นที่ศาลยุติธรรม อาจมองว่าเรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่สามารถตัดตอนได้อาจนำไปสู่การยกฟ้อง หรือยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ถ้าทำสำนวนคดีไม่ละเอียด รอบคอบเป็นสาเหตุให้ผู้มีอำนาจแท้จริง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่กล้าลงนามคำสั่งดังกล่าว แต่ให้นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ลงนามแทน ซึ่งนายบุญทรง และพวก สามารถใช้เป็นข้อโต้แย้งในศาลได้
“แม้ พล.อ.ประยุทธ์ มอบอำนาจให้กระทรวงพาณิชย์ ลงนามแทน ก็ไม่พ้นตัวเองอยู่ดีอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ม.157 หากศาลสั่งให้ยุติคดี หรือคุ้มครองชั่วคราว ถ้าเห็นว่าวิธีการใช้อำนาจทางปกครองไม่ถูกต้อง หรือมีเจตนากลั่นแกล้ง อาจถูกฟ้องกลับเรียกค่าเสียหายได้ ซึ่งอายุความมูลละเมิดอันมีความผิดทางอาญา มีอายุความ 2 ปี นับตั้งแต่รู้มูลความผิด ที่เป็นช่องทางหนึ่งในการต่อสู้คดีทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย เรื่องดังกล่าวเป็นมหากาพย์ ไม่จบง่ายๆ คดีดังกล่าวยังอีกยาว” นายชำนาญกล่าว
Post A Comment:
0 comments: