About

About
woywhyweb

slider

Recent

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

คลังบทความของบล็อก

Navigation

10 ปีความขัดแย้งการเมืองไทย คนไทยพร้อมคุยกับคนเห็นต่างหรือยัง (ตอนที่ 1)

บีบีซีไทย - BBC Thai

10 ปีความขัดแย้งการเมืองไทย คนไทยพร้อมคุยกับคนเห็นต่างหรือยัง (ตอนที่ 1)

จันจิรา สมบัติพูนศิริ: สันติภาพไม่ได้หมายความว่าขัดแย้งกันไม่ได้

บีบีซีไทยคุยกับ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิชาการด้านสันติภาพและความขัดแย้ง จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองไทยรอบ 10 ปี โดยเธอชี้ว่าสังคมไทยมักเข้าใจว่าสันติภาพหมายถึงความสงบเรียบร้อย หากแต่นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้หากความขัดแย้งถูกกดทับ

ครบรอบ 10 ปีรัฐประการ 19 กันยายน 2549 ผ่านไปอย่างเงียบเหงา การจัดกิจกรรมรำลึกนายนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ที่ผูกคอตายประท้วงการรัฐประหารที่หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐถูกระงับโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแม้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่กี่คนและแทบไม่เป็นข่าว ขณะที่กิจกรรมเสวนาระหว่างผู้เห็นต่างทางการเมืองซึ่งอาจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า เหลืองคุยกับแดง โดยเชิญนายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมฝั่งเสื้อแดง มาสนทนากับนายแทนคุณ จิตต์อิสระ นักกิจกรรมฝั่งเสื้อเหลืองและนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ แต่เวทีก็จบลงด้วยเหตุชุลมุน โซเชียลมีเดียของไทยโดยเฉพาะฝ่ายที่มีความกระตือรือร้นทางการเมืองก็คึกคักกับการตั้งคำถามอีกครั้งว่า 10 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยพร้อมรับฟังและแลกเปลี่ยนกับคนที่เห็นต่างจากตนเองมากน้อยแค่ไหน

ผศ. ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ กล่าวว่า เวลา 10 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนยาวนานก็จริงแต่ต้องถามว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยได้ทำอะไรกับความขัดแย้งบ้าง ซึ่งเธอมองว่าสิ่งที่เห็นได้ก็คือ ต่างฝ่ายต่างสร้างบาดแผลแก่กันและกัน เช่น รัฐบาลของแต่ละฝั่งจัดการกับผู้เห็นต่างด้วยการสลายการชุมนุม ไม่มีการคลี่คลาย ไม่มีการออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสียในการสลายการชุมนุมต้องรับผิด

“ประเด็นที่สอง คือ วิธีการที่เราใช้จัดการแก้ไขความขัดแย้งตอนนี้ ไม่แน่ใจว่ามันเป็นความต้องการแก้ไขความขัดแย้งหรือเปล่า สิ่งที่เราทำคือเราปัดความขัดแย้งไปไว้ใต้พรม ปัญหาก็คือมันอยู่ใต้พรมที่เดิม และก็เหมือนคนทั่วไป เมื่อเก็บอะไรไว้ในใจมากไป มันก็รอวันปะทุขึ้นมาใหม่ วิธีการกดทับการพูดถึงความขัดแย้งก็เหมือนคนป่วยซึ่งเราไม่ได้รักษา

ผศ. ดร.จันจิรามองว่า การที่มวลชนเสื้อแดง โห่ฮาและทำให้เวทีเสวนาเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ล่มลงหลังจากที่นายแทนคุณ จิตต์อิสระ พูดเท้าความถึงความรับผิดชอบของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยที่ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นเหมือนการเปิดจุดอ่อนให้ทหารทำรัฐประหารนั้น จันจิรามองต่างกับหลายฝ่ายที่เห็นว่าเวทีนั้นล้มเหลว แต่เธอมองในฐานะนักวิชาการด้านสันติวิธีว่า ตราบเท่าที่มีเวทีถกเถียงแลกเปลี่ยน และมีที่ให้คนได้แสดงความไม่พอใจกันก็น่าจะเป็นเรื่องที่รับได้

“ถ้าให้เลือกแสดงความไม่พอใจ แสดงความขัดแย้งได้ กับอีกอย่างคือบังคับให้กดทับไว้ อย่างหลังต่างหากที่ไม่เป็นการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ถ้ามีบรรยากาศที่คนทะเลาะกันซึ่งๆ หน้า ก็ถือว่าช่วยให้ปลดปล่อยความไม่พอใจออกมา”

ผศ.ดร.จันจิราระบุว่า จริงๆ แล้วมวลชนทั้งสองฝั่งมีลักษณะสุดโต่งไม่ต่างกัน และต้องยอมรับในความกล้าหาญของคนจัดงานและวิทยากรที่เห็นต่าง ซึ่งภาพที่ออกมาอาจจะดูเหมือนคนเสื้อแดงไม่อดทนอดกลั้น หากแต่ก็มีข้อสังเกตว่าในมุมกลับว่าเป็นเวทีที่เปิดรับวิทยากรที่มีความเห็นต่าง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเคยมีในฝั่งเสื้อเหลืองหรือไม่ และหากมีเวทีเช่นนั้น ก็เป็นไปได้ว่าคนเสื้อเหลืองก็จะโห่ฮาไม่ต่างกัน

“ต้องถามต่อว่าทำไมความเห็นของคนสองฝั่งจึงสุดโต่งได้ขนาดนี้ เราต้องกลับมาที่ประเด็นแรกว่าเราไม่มีการเคลียร์กัน แล้วที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายออกมาประท้วง มีการปราบปราม มีการรัฐประหาร แบ่งคนสองกลุ่มให้เห็นต่างอย่างสุดขั้ว ทีนี้ถามว่า เรื่องนี้เป็นอาการแปลกไหม ถ้าเทียบกับหลายประเทศในโลก ก็ไม่ได้แปลก ในสหรัฐอเมริกา รีพับลิกันและเดโมแครตก็ทะเลาะกันมานาน แต่ของเราคล้ายๆ หาอนาคตร่วมกันไม่ได้ จะทำอย่างไรให้มีการพูดคุยหรือการทะเลาะกันได้ แต่ต้องมีการหาอนาคตร่วมกันด้วย”

นักวิชาการด้านสันติวิธีระบุว่าข้อดีของเสื้อแดงคือการวิพากษ์วิจารณ์กันเองในกลุ่ม ในโซเชียลมีเดียจึงได้เห็นเห็นกระแสที่คนลุกมาต่อว่ากันเองว่าทำไมไม่มีสปิริตประชาธิปไตย แต่เนื่องจากที่ผ่านมา มวลชนทางการเมืองต่างก็ผ่านเหตุการณ์มากมายและยังมีคนที่เจ็บปวด การมีเวทีพูดคุยนั้นจึงเป็นที่ที่เปิดโอกาสให้คนได้ระบาย และควรมีต่อไป ตราบเท่าที่ไม่มีการคุกคามทางวาจาหรือทางกาย

“ความขัดแย้งในสังคมเป็นเรื่องปกติ ทุกสังคมมีเรื่องขัดแย้งและหลายสังคมผ่านสงครามกลางเมืองหรืออะไรที่น่ากลัวกว่าบ้านเราเยอะ สังคมบ้านเรามีข้อดีข้อเสีย ข้อเสียคือมักจะเก็บความรู้สึกไม่พอใจ หรือทัศนคติของผู้นำทางการเมืองที่เห็นว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องไม่ดี ทั้งที่ความขัดแย้งนั้นทำให้สังคมดีขึ้น ทัศนคติแบบนี้ต้องเปลี่ยน”

ดร.จันจิราเชื่อว่าสังคมไทยมีต้นทุนทีดี คือไม่เคยขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นสงครามกลางเมือง แต่ก็มีข้อเสียคือขาดความเข้าใจเรื่องสันติวิธี โดยเข้าใจไปว่าต้องไม่ขัดแย้ง ไม่ทะเลาะกัน

“เราต้องเอาข้อดีข้อเสียมาผสมกัน ต้องยอมรับความขัดแย้งและให้ทะเลาะกันได้โดยไม่ตีกัน แต่มันฟังดูยาก เวลาพูดถึงสันติภาพ มักมีคนเข้าใจว่าเป็นสันติภาพแบบโลกสวย ดูดี สงบไปเสียหมด แต่สันติภาพไม่ได้เท่ากับคำว่าสงบ สันติภาพหมายถึงคนต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมได้ สันติภาพหมายถึงคนออกมาแสดงความไม่พอใจ สันติภาพหมายถึงคนแสดงความเจ็บปวดได้ คนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้มีการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มคนต่างๆ ทางสังคมได้ สันติภาพมันหมายถึงความเป็นธรรมทางสังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องสงบ เรียบร้อย” นักวิชาการด้านสันติวิธีกล่าวทิ้งท้าย

Share
Banner

Post A Comment:

0 comments: